Wednesday, April 02, 2008

13. ในปัจจุบัน.....ครูคือใคร....มีความสำคัญอย่างไร...เรายังควรจะต้องมีโรงเรียนต่อไปอีกหรือ...ในเมื่อโรงเรียนเป็นแค่ทางผ่าน.. (Education)

หัวข้อนี้พูดถึงเรื่องการศึกษานะครับ ผมไม่อยากให้มองว่าเป็นการทะเลาะเบาะแว้งกัน แต่ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้กันที่บางครั้งก็มีความขัดแย้งกันเป็นเรื่องปกติ ผมไม่ยกมาทุกความเห็นนะครับแม้ว่าความเห็นอื่นจะน่าสนใจไม่แพ้กันเลย
ที่มา: http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K6476944/K6476944.html



ขอบอกก่อนว่า นี่เป็นความรู้สึกของเรา จากโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่เราไม่รู้ว่าจะสามารถอ้างอิงไปโรงเรียนอื่นได้หรือไม่ แต่นี่คือสิ่งที่เราพบมาตลอด 2 เดือนค่ะ
*******************************

ตอนนี้กำลังจะเป็นครูค่ะ ก็เริ่มไปเดินตามโรงเรียน เดินดูเด็ก เดินดูครู ดูการเรียนการสอน

ทำไมเรารู้สึกจังหนอว่า ครูกับโรงเรียนในปัจจุบันนี้ แทบจะไม่มีค่าในสายตาเด็กแล้ว

เราเห็นครูคนหนึ่งแอบไปร้องไห้ ด้วยความเจ็บใจที่เด็กไม่สนใจเรียน เจ็บใจที่เด็กรีบไปเรียนกวดวิชาอย่างตั้งใจ เพื่อที่จะกลับมาดูถูกว่าครูสอนอะไรที่งี่เง่า ไม่มีลูกล่อลูกชน ไม่มีเทคนิค สอนสู้ที่กวดวิชาไม่ได้

เราเห็นครูอีกคนหนึ่งทำหน้าท่าเบื่อชีวิต เพราะแกไปดุเด็กคนหนึ่งเรื่องแต่งตัวไม่เรียบร้อย (จงใจไม่ใส่เสื้อใน) ผลปรากฏเด็กไปฟ้องผอ. แล้วแกก็โดนผอ. ว่าเอา วันรุ่งขึ้น เด็กคนเดิมก็แต่งตัวมาแบบเดิม มานั่งในห้องเรียน

เราเห็นเด็กเดินไปเรียนกวดวิชา (ที่ที่เรียนกวดวิชาอยู่ติดๆโรงเรียนนั่นแหละค่ะ) ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส แต่เดินเข้าห้องเรียนเหมือนจะโดนเชือด หน้าตาน่าเบื่อ ให้ทำอะไรก็ไม่ทำ

เราเห็นเด็กเริ่มทำตัวแปลกประหลาดขึ้นทุกวัน เช่น มีกิ๊กทีเดียว 4 คน บ้าดาราโดยไม่สนใจเรียนเลย ติดยา

และเมื่อเด็กสอบตก ครูก็มีหน้าที่ผลักดันให้เด็กคนนั้นผ่านไปให้ได้ โดยไม่มีข้อแม้ใดๆทั้งสิ้น แม้ว่าจะต้องออกข้อสอบที่ง่ายแสนง่ายมาให้ทำก็ตาม ครูก็ต้องตามแทบจะกราบกรานให้เด็กคนนั้นๆมาซ่อมให้ได้

เด็กๆต่างบอกเราว่า ครูสอนน่าเบื่อ ไม่มีอะไรน่าสนใจ

เด็กๆต่างบอกเราว่า คนที่จะเป็นครู คือคนที่ไม่มีทางไป คือคนที่มีหน้าที่มาสอน ตามที่รัฐบาลให้เงิน

เด็กบางคนเห็นที่สอนกวดวิชาเป็นพระเจ้าที่เนรมิตความรู้ได้ทุกประเภท ให้เทคนิคที่สามารถกรุยทางให้เขาเข้ามหาวิทยาลัยได้

เราเห็นพ่อแม่ที่รักลูกมาก ถึงขนาดยอมหาเงินหาทองมาให้ลูกเสียค่ามือถือเดือนละหมื่น ยอมลางานมาด่าครูที่ไม่ให้ลูกตัวเองสอบผ่านโรงเรียน

เราเห็นพ่อแม่ที่ไม่สนใจลูกเลย ให้เงินออกจากบ้านแล้วก็จบ ไม่สนใจว่าเด็กจะไปถึงโรงเรียนหรือไม่ พอครูไปตามที่บ้านจึงได้รู้ว่าลูกไม่เข้าโรงเรียนมา 1 สัปดาห์แล้ว

เราได้เห็นในเวบบอร์ดของโรงเรียน เด็กเข้าไปโพสท์ข้อความด่าครูคนนั้นคนนี้อย่างสาดเสียเทเสีย โดยที่บางเหตุการณ์เราได้อยู่ด้วย เราเห็นว่า ทัศนคติของเด็กกับครูไม่ตรงกันทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา แต่ถ้อยคำทีเด็กใช้มันช่างรุนแรงเหลือเชื่อ

แล้วพอเราเข้าอ่านเวบบางเวบ เราก็ได้พบว่า มีคนที่ทนทรมานจากครูมากมาย หลายคนถูกครูด่า โดนครูว่า หลายคนโดนดูถูก ครูบางคนไม่สอน ฯลฯ

แต่จะกล้าปฏิเสธหรือไม่ ว่ามีครูดีๆอีกมากมายที่พร้อมจะสอน มีครูดีๆอีกมากมายที่คอยประคองเด็กไปให้ถึงฝั่ง

หากมีแต่ครูไม่ดี ประเทศนี้คงตั้งอยู่ไม่ได้แล้ว

ดังนั้น เราอยากขอพื้นที่ให้ครูบ้าง ครูก็คน ครูก็มีหัวใจ ครูก็ต้องการให้คนรับรู้และเข้าใจในสิ่งที่ครูกำลังทำ ครูไม่ได้หวังว่าภาพลักษณ์แม่พระมันจะต้องติดไปกับครู คำกล่าวหาบางคำ ทำให้ครูดีๆลาออกไป และเหลือแต่ครูไม่ดีเอาไว้

ตอนนี้เรายอมรับว่า ความอยากเป็นครูมันลดน้อยลง

การที่เราทำงาน นอกจากเงินแล้ว เราต้องการเกียรติในงานของเราเช่นกัน

ใครสักคนนี่แหละ บอกเราว่า ครูควรทำงานแบบปิดทองหลังพระ แต่ครูก็ท้อเป็น

สุดท้ายนี้ เราขอขอบคุณครูดีๆทุกท่านที่สอนเรามาจนรอดปากเหยี่ยวปากกามาทุกวันนี้ค่ะ

จากคุณ : คนภูธรGO ONนครบาล



ส่วนนี้เป็นความเห็นนะครับ

ผมว่าผิดที่ครูเป็นส่วนใหญ่ ครูบางคนไม่ทราบว่าบทบาทของตัวเองคืออะไร และควรจะสอนอย่างไร (ในบริบทครูประถม มัธยม และครูอุดมศึกษาบางคน)

ผมไม่คิดว่ามันคือ "หน้าที่" ครู ที่จะไปเดินตรวจว่าใครใส่เสื้อในใครไม่ใส่ ใครติดกิ๊บสีอะไร ผูกโบว์หรือไม่ เด็กคนไหนตั้งกระบังหรือเปล่า ฉีดสเปรย์มาหรือเปล่า ฯลฯ

ลองไปดูคำด่าที่คุณอ่านผ่านมา เด็กด่าครูเรื่องอะไรล่ะครับ ถ้าให้ผมทาย มันก็เป็นเรือ่งที่ครูเข้มงวด(ในเรื่องที่ไม่ใช่หน้าที่ครูอย่างที่ผมบอกแล้ว) หรืออาจจะเป็นเรื่องการสอนที่อาจจะใช้ไม่ได้ ซึ่งครูก็น่าจะปรับปรุง

ครูควรจะเอาเวลาที่ไปตรวจระเบียบ ไปเรียนเพิ่มเติม (โดยเฉพาะครูประถม มัธยม) หรือไปหาวิธีการสอนที่ดีกว่า ไม่ใช่ใช้หลักสูตรเดิมที่ใช้มาเป็นสิบๆปี เข้ามาก็อ่านชีทที่เตรียมมา หรือบอกให้นักเรียนนั่งจดคำต่อคำ

ครูบางคนความรู้มีเท่ากับหนังสือของกระทรวงศึกษา(หรือน้อยกว่า) พอนักเรียนซัก ก็ตอบไม่ได้ สิ่งที่ตอบคือ "ครูเรียนของครูมาอย่างนี้" หรือ "อย่างงี้เเหละถูกแล้ว" เมื่อเจอครูอย่างนี้ นักเรียนก็จะเคารพ(ในความรู้)ได้อย่างไร ก็ต้องออกไปเรียนพิเศษกันสิครับ

เด็กที่สอบตก ก็เป็นผลมาจากครูเป็นส่วนหนึ่ง ทำไมทำให้เค้าสนใจเรียนไม่ได้ หรือทำไมอธิบายให้เค้าเข้าใจไม่ได้ (นี่คือสิ่งที่ผมถามตัวเองในฐานะครูเสมอๆเมื่อเจอเด็กตก) แน่นอน ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเด็กเอง เด็กบางคนจะยังไงก็ไม่เอา ซึ่งเด็กพวกนี้ก็คงต้องปล่อยไปในที่สุด (หรือถ้าครูพยายามอีกหน่อยก็อาจจะทำให้เด็กกลับใจ)

จากคุณ : texanprofessor


ผมไม่เห็นด้วยกับคุณ texanprofessor (krisdauw) คห.1
ความเป็น "ครู" ไม่ใช่ให้ความรู้ทางวิชาการแต่เพียงอย่างเดียว นั่นมันพวกสติเฟื่อง พวกบ้าตำรา
แต่ต้องพร่ำสอนทางด้านจริยธรรม วัฒนธรรมอันดีงามควบคู่ไปด้วย เพื่อศิษย์จะได้เติบโตเป็นคนดีศรีสังคมในวันข้างหน้า

หากเน้นที่วิชาการอย่างเดียว
ก็ไม่แปลกที่โรงเรียนกวดวิชาจะผุดขึ้นราวดอกเห็ด
เป็นธุรกิจ ไร้สิ้นซึ่งความเป็นครูในจิตวิญญาณ
หากวันหนึ่งนักเรียนโรงเรียนกวดวิชาไม่พอใจ เอาส้น teen ลูบหน้าครู
ก็จงอย่าได้แปลกใจ เพราะมันแค่ลูกค้าไม่พอใจ ไม่ใช่ "ครู" ของกรูโว้ย

"ครู" ไม่ใช่ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาแต่เพียงอย่างเดียว
แต่เป็น "พ่อ" คนที่สองนะครับ

จากคุณ : หนุ่มไทยไร้นาม

คุณหนุ่มไทยไร้นามครับ ไม่ว่าใครเอาเท้าลูบหน้าใครนั้น คน"สติ"ดีคงไม่ทำหรอกครับ ไม่ว่าความสัมพันธ์จะเป็นลูกค้ากับคนขาย เพื่อนกับเพื่อน ครูกับนักเรียน พ่อแม่กับลูก ฯลฯ ผมคิดว่าเรื่องอย่างนี้คงไม่จำเป็นต้องสอนมั้งครับ ??? แต่สงสัยถ้าผมมีนักเรียนอย่างคุณ อาจจะต้องสอนกระมังครับ เพราะไม่งั้นคงจะไม่เป็นศรีสังคมอย่างคุณว่า

เรื่องด้านจริยธรรม ความดี มันอยู่ในตัวเนื้อวิชาที่ผมสอนอยู่แล้ว (เผอิญว่าสอนสายมนุษยศาสตร์น่ะครับ) และบังเอิญว่าเวลาผมสอน ผมสอนมากกว่าแค่ "การทำตามวัฒนธรรมหนึ่งๆเป็นสิ่งที่ "ดี" " ผมสอนให้เด็กคิดว่า ความดีคืออะไร ความชั่วคืออะไร และคนที่ไม่ได้ทำ(หรือคิดเหมือนกับ)สิ่งที่สังคมหนึ่งๆว่า "ดี" คนๆนั้นควรจะถูกคนอื่นมองอย่าง แกะดำ หรือเป็นคนไม่ดีหรือเปล่า หรือทุกอย่างมัน subjective นักเรียนทุกคนน่าจะต้องตั้งคำถามนั้น ไม่ใช่สักแต่ว่าทำตามน้ำไป ใครเค้าว่ายังไง ก็ว่าอย่างนั้น...

แต่อย่างไรก็ดี ถ้าอ่านความเห็นผมให้ละเอียด (ความเห็นที่หนึ่ง) ผมไม่ได้พูดเกี่ยวกับจริยธรรม แต่พูดเกี่ยวกับสิ่งไร้สาระเช่น เดินตรวจกิ๊บนักเรียน ตรวจโบว์ ฯลฯ ซึ่งก็ยังไม่เข้าใจว่ามันทำให้เด็กฉลาดขึ้นหรือโง่ลง หรือเป็น"คนดี" หรือ "คนไม่ดี" ตรงไหน (ถ้าติดกิ๊บสีผิด หรือไม่ผูกโบ)

มากกว่านั้น ผมไม่คิดว่าครูเป็น พ่อ (คนที่สอง) ของใคร คิดว่าครูเป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่ง ครูเป็นเพื่อนรวมงาน (colleague) ที่คอยช่วย guide นักเรียน ช่วย push นักเรียนให้คิดไกลไปกว่าที่เค้าทำได้ ครูดีกว่านักเรียนตรงที่มีประสบการณ์มากกว่าเท่านั้น ดังนั้นไม่แปลกที่นักเรียนเรียกชื่อต้นของผม (krisda) การ define ตัวเองอย่างนี้ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนเปลี่ยนไป (และในทางดีขึ้น จากประสบการณ์) ทำให้นักเรียนกล้าซัก กล้าถาม ไม่ใช่เห็นครูเป็นวัตถุบูชา พูดอะไรมา เออออตามหมด ฯลฯ

สุดท้ายนี้ ผมไม่คิดว่าหน้าที่ผมคือ สอนอย่างเดียว เพราะไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นเครื่องจักรในโรงงานที่ทำหน้าที่ repeat สิ่งที่รู้แล้ว ทำซ้ำๆ เดิมๆ แต่คิดว่าเป็นคนผลิตองค์ความรู้ใหม่ (วิจัย) และนำความรู้ และทักษะจากการวิจัยมาถ่ายทอดต่อไป ดังนั้นถึงแม้ผมจะสอน class เดิม ผมก็เพิ่มเติม เปลี่ยนแปลง และพัฒนาหลักสูตรตัวเองอยู่ตลอดเวลา ทำเท่านี้ก็หมดเวลาผมแล้วล่ะ (ถึงได้บอกว่า ถ้าใช้เวลาที่ไปนั่งตรวจผมยาว กระโปรงสั้น ฯลฯ คงเป็นการเสียเวลาเปล่า และไม่ได้ทำอะไรให้มันดีขึ้น)

หวังว่าคุณหนุ่มไทยคงเข้าใจจุดยืนของผม

จากคุณ : texanprofessor


แสดงว่าคุณ krisda ยังไม่เคยเจอครูที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครูจริงๆ
แต่ก็ไม่แปลกใจ เพราะปัจจุบันหายากมากแล้ว
ในชีวิตผมก็เคยเจอเพียง 4 คนเท่านั้น

หนึ่งในสี่คนนั้นก็เป็นเด็กรุ่นหลัง
ครูคนนี้สอนระดับมัธยมปลาย เขามองเห็นแววของเด็กกลุ่มหนึ่ง ประมาณ 5-6 คน
จึงเรียกมาติวเข้มนอกเวลาเรียน เพื่อส่งเด็กกลุ่มนี้ไปสู่ดวงดาว
ปัจจุบันเด็กกลุ่มนี้ประกอบอาชีพใน 3 สาขา วิศวกร / แพทย์ / นักบิน
ถึงดวงดาวดังใจ

ซึ่งในการติวเข้มนั้น ครูคนนี้ติวให้ฟรีๆ ครับ
เลี้ยงขนมและน้ำด้วยเสร็จสรรพ
ที่สุดของที่สุด ครูคนนี้จบวิศวะเคมี ปฏิเสธเงินเดือนเกือบแสนถ้าไปทำงานเป็นวิศวกร
แต่ยอมมากินเงินเดือนไม่กี่พันบาท เพราะใจรักที่จะเป็น "ครู"

จากคุณ : หนุ่มไทยไร้นาม


ผมอ่านความเห็นของพี่ krisda กับคุณ หนุ่มไทยไร้นาม ทำให้ผมรู้สึกว่าการศึกษาก็ยังคงแบ่งเป็นโซนไทย (เอเชีย?) และโซนอเมริกา (หรือตะวันตก?) อยู่ อีกทั้งได้สังเกตว่าแนวความคิดเกี่ยวกับการศึกษาของสองโซนก็ยังไม่เปลี่ยน นั่นคือไทยจะสอนให้นักเรียนทำตามว่า "สิ่งที่ดี" โดยไม่ต้องสงสัย (ผมเชื่อว่าสิ่งดีๆ ที่ควรทำโดยไม่ต้องตั้งคำถามว่ามันดีจริงหรือเปล่ามีอยู่) และทางอเมริกาก็จะเน้นให้นักเรียนคิดเองได้ (แต่บางครั้งก็ทำให้เกิดความก้าวร้าวได้เช่นกัน)

ผมเป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสเรียนต่างประเทศและได้เห็นแนวคิดที่แปลกไปจากตอนที่เรียนเมืองไทย และตอนแรกๆ ผมคิดว่าระบบการเรียนของอเมริกานี่ดีเหลือเกิน ทำให้นักเรียนได้รู้จักคิด และได้รู้จักการแสดงออก เรียกว่าเป็นประชาธิปไตย(ระดับหนึ่ง) ช่วงนั้นพอมองย้อนกลับไปก็เห็นว่าการศึกษาเมืองไทยเป็นสิ่งตรงข้ามกับคำว่าประชาธิปไตย คือเริ่มแบ่งและ "label" ว่าทางไทยเป็นแบบหนึ่ง และทางอเมริกาเป็นอีกแบบ และส่วนมากจะมองว่าการศึกษาของอเมริกาดีกว่าของไทย

แต่หลังจากได้กลับมาคิดอีก ก็รู้สึกว่าแท้จริงแล้วความคิดแบบนั้นของผมผิดหรือเปล่า เพราะว่าถ้าผมมองการศึกษาอเมริกาว่าดีกว่าไทย)นี่แสดงว่าผมปล่อยให้แนวความคิดของการศึกษาแบบอเมริกันมานิยามคำว่า "ดี" และ "มีประสิทธิภาพ" ของการศึกษาในความคิดของผมหรือเปล่า (คือ การศึกษาที่ไม่ใช่แนวความคิดแบบอเมริกาก็ให้สรุปว่าไม่ดี) แล้วถ้าเป็นแบบนี้จริงๆ คำว่า "ประชาธิปไตย" ของการศึกษาของอเมริกันอยู่ตรงไหน ในเมื่อผมปล่อยให้มันล้างสมองผมไปเรียบร้อยแล้ว?

แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็คิดว่าถ้าไม่ได้ปล่อยให้ความคิดแบบชาวอเมริกันมามีอิทธิพลกับความคิดของผมผม ผมจะมีโอกาสเขียนแสดงความเห็นที่ผมกำลังทำอยู่ตอนนี้หรือเปล่า? ผมอาจจะได้แค่อ่านแล้วก็สะสมความรู้ต่อไป หรือว่าอ่านแล้วผ่านไปเลยได้แต่พยักหน้าว่า "อืมดีๆ น่าสนใจ" แล้วก็จบกัน

สรุปแล้วผมว่าก็เช่นเดียวกันครับ การศึกษามันไม่ได้หยุดที่คำว่าอะไรดีกว่าอะไร แต่มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แต่เรามีหน้าที่ที่ต้องตามมันให้ทัน และที่สำคัญตามความคิดของเราให้ทัน ผมเลยไม่อยากสรุปว่าวิธีแบบไทยหรือแบบอเมริกาดีกว่า เพราะว่าถ้าผมปล่อยให้ตัวเองสรุปตอนนี้ ผมอาจจะพลาดสิ่งดีๆ ไปหลายอย่าง

จากคุณ : เมื่อลมแรง...ใบไม้ก็ร่วง


ขอบคุณครับน้องเมื่อลมแรงฯ สำหรับความเห็นที่เฉียบคม จริงๆทุกอย่าง (หรือ "ตัวตน") มันก็เกิดขึ้นได้เพราะวาทกรรม (discourse) ไม่ใช่หรือครับ เช่น อะไรคือ orientalism และอะไรคือ westernism แต่จริงๆแล้วมันไม่มีอะไรที่เป็นตะวันออกและไม่มีอะไรที่เป็นตะวันตก มีแต่การมอง(และการให้นิยาม)ว่าอะไรคือตะวันออกและการมองว่าอะไรคือตะวันตกป่ะครับ... โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการศึกษา...มันแน่นอนว่ามีความแตกต่างในวิธีการสอน การจัดการห้องเรียน ตำรา หลักสูตร ฯลฯ ระหว่าง "ตะวันตก" และ "ตะวันออก" (for lack of better terms) แต่ว่ามันก็แค่ความแตกต่างที่เราพยายามทำให้มันเป็นตัวตนขึ้นมาป่ะครับ และพยายามแยกให้ความแตกต่างเหล่านั้นเด่นชัดขึ้น เช่น ตะวันตก จะให้โอกาสในการซักถาม ตะวันออกให้นักเรียนนั่งจดหรือฟังอย่างเดียว แต่จริงๆมันคือ preference ของอาจารย์คนสอนว่าจะเลือกสไตล์ไหนป่ะครับ ซึ่งหลายๆครั้งมันก็เกิดขึ้นร่วมกันได้ทั้งในตะวันตกและในตะวันออก

ดังนั้นผมพยายามเลี่ยงที่จะไม่ define ว่าการสอนแบบเมกาหรือแบบไทยดีกว่า (ด้วยเหตุผลที่ว่า มันไม่มีอะไรที่เป็นตะวันตกหรือตะวันออก) ... แต่พยายามที่จะอธิบายถึง teaching philosophy ของตัวเอง (i.e. สิ่งที่ตัวเองคิดว่า "ดี" สำหรับนักเรียน) แทนน่ะครับ

สำหรับผมคิดว่าถ้านักเรียนไม่มีการคิดนอกกรอบ(ที่เป็นมา outside the box!) และเปิดโอกาสให้กับนักเรียน โดยที่ครูมองพวกเค้าว่ามี potential ที่จะเป็นได้อย่างเรา (นั่นคือ treat เค้าเหมือนเพื่อนร่วมงานเรา) เราจะไม่สามารถ generate ความรู้ใหม่ๆได้ อย่างดีก็แค่ส่งต่อความรู้ที่มีกันมาเท่านั้นใช่ไหมครับ มากไปกว่านั้นตัวครูเองก็ไม่ควร "หยุด" แต่ควรจะ generate ความรู้ใหม่ๆ (จากการวิจัย) เสมอๆ ผมคิดว่าถ้าทั้งนักเรียนและครูร่วมกัน มันจะช่วยดัน "กงล้อ" การศึกษาให้หมุนไปไกลกว่าเดิม

ดังนั้น ขอวกกลับมาที่ความเห็นของคุณหนุ่มไทยฯ ผมคิดว่าอาจารย์ที่ดีนั้นมีได้หลายรูปแบบ และแต่ละคนคงทำไม่ได้ทุกรูปแบบ แต่มันต้องมีทุกรูปแบบในระบบการศึกษา (เหมือนกับที่ต้องมีทุกอาชีพ เช่น พนักงานทำความสะอาด ทนาย ครู ฯลฯ) เช่น อาจารย์ที่คุณอ้างถึงในความเห็นที่ 18 นั้น ช่วยติวให้นักเรียนเอนทรานซ์ได้โดยไม่คิดผลตอบแทน ซึ่งก็ถือเป็นการทุ่มเทอย่างหนึ่งและเป็นครูที่ดี แต่ถ้าพิจารณาจากความถนัดส่วนตัวของผม และ teaching philosophy ส่วนตัว ผมถนัดมากกว่าที่จะสอนเพื่อให้นักเรียนนำความรู้ติดตัวไปตลอด (นั่นคือ ความรู้ทางมนุษยศาสตร์ ที่เป็นสหสาขาวิชา interdisciplinary และนำไปใช้ได้ทุกที่) มากกว่าที่จะนำความรู้ไปใช้สอบเพื่อเป็นเส้นทางไปสู่ฝันข้างหน้า (ซึ่งไม่ได้ "ดีกว่า" หรือ "แย่กว่า" หรือ มีจิตวิญญาณความเป็นครูน้อยกว่าครูอื่นๆที่มีแนวทางต่างจากนี้แต่อย่างใด) เช่นเดียวกันครูที่อุทิศตนไปช่วยสอนนักเรียนชนบท ก็ถือว่าเป็นครูที่เสียสละ และคงมีจิตวิญญาณอย่างที่คุณว่า แต่เราต้องไม่ลืมว่าโลกนี้ยังต้องการองค์ความรู้ใหม่ๆนอกจากความรู้เดิมๆ ซึ่งก็ต้องมีคนกลุ่มหนึ่งที่ทำหน้าที่นี้ มันก็แล้วแต่คนถนัดว่าใครจะทำอะไรไม่ใช่หรือครับ

จากคุณ : texanprofessor



(I was thinking specifically of Bahktin's and Judith Goleman's idea when I was responding to the post -- one must be conscious of the theory that is working them first before s/he can speak his/her language. Please see my post here for detailed discussion of this point: http://dialogueonwriting.blogspot.com/2008/03/compositioncritical-theory.html)